“EXIM Thailand Pavilion” แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์เพื่อ SMEs รุกตลาดโลกยุค Next Normal

ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดตัว

 

โครงการแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ “EXIM Thailand Pavilion” ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขายสินค้าบนบัญชี EXIM BANK ใน Alibaba.com ฟรี

เป้าหมายของ EXIM BANK ในการสร้างผู้ส่งออกป้ายแดง

ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการกำหนดกลยุทธ์ และนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ EXIM BANK : โควิด-19 ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งสภาพแวดล้อม และพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้เชื่อมโยงสู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด และครอบคลุมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทำให้ธุรกิจออนไลน์เติบโต และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการค้าออนไลน์โลกจะสูงถึง 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และ 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เทียบกับ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563

EXIM BANK จึงริเริ่มให้มี “EXIM Thailand Pavilion” เป็นแพลตฟอร์มใหม่ของการค้าออนไลน์ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงได้ เป็นการช่วยย่นระยะทาง และระยะเวลาการติดต่อธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ซื้อในต่างประเทศ เพื่อช่วยสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ หรือผู้ส่งออกป้ายแดงของไทยได้มากขึ้น กว่าจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพียงไม่ถึง 1% จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ 3 ล้านราย

โดยมี EXIM BANK ให้การสนับสนุนด้านข้อมูลความรู้ เงินทุน ตลอดจนเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกรายใหม่ สามารถค้าขายในทุกตลาดอย่างมั่นใจ มีความพร้อมด้านสภาพคล่อง และได้รับความคุ้มครองกรณีไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้ารายใหม่ที่เพิ่งติดต่อ และตกลงค้าขายระหว่างกันทางออนไลน์

กับดักทางธุรกิจที่ SMEs ยังต้องเผชิญ แม้สถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายคืออะไร
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK : ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ยังค้าขายออนไลน์ในประเทศเป็นหลัก ทั้งที่ตลาดในประเทศ มีข้อจำกัดหลายประการ

ทั้งขนาดตลาดที่ไม่ใหญ่ ด้วยประชากรเพียง 66 ล้านคน คิดเป็น 10% ของอาเซียน และ 0.9% ของโลก ในมิติขนาดเศรษฐกิจ ไทยมีขนาดเพียง 16% ของ อาเซียน หรือ 0.6% ของโลก อีกทั้งยังเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การจับจ่ายใช้สอย ไม่คึกคักเหมือนในอดีต

อะไรคือ EXIM Thailand Pavilion และทำไมต้องใช้ EXIM Thailand Pavilion

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK : “EXIM Thailand Pavilion” เป็นโครงการที่ EXIM BANK จัดทำร่วมกับ AJ E-Commerce, Alibaba.com Authorized Partner เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางนำสินค้าไปขายบนแพลตฟอร์มการค้าระดับโลก

ภายใต้บัญชีสมาชิก “EXIM Thailand Pavilion” ของ EXIM BANK เมื่อมีผู้ซื้อจากต่างประเทศ ติดต่อให้ความสนใจสินค้า ระบบจะทำการแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ ผ่านช่องทาง SMS และ E-mail ทันที

ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะสามารถวางขายสินค้าบนบัญชีของ EXIM BANK เป็นระยะเวลา 1 ปี (หรือ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย) พร้อมจัดให้มีทีมงานบริหารร้านค้า และทำการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แถมพี่เลี้ยงที่ช่วยบริหารจัดการและประชาสัมพันธ์สินค้า ยกระดับสินค้าและบริการของไทย ให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุค Next Normal

นอกจากนี้ EXIM Thailand Pavilion ยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายบริษัทจัดจำหน่าย สินค้า (Trading) และผู้ให้บริการคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง (Fulfillment) ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้า และบริการของไทย เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยเชื่อมโยงกันภายใต้ Supply Chain ของ E-Commerce โลก

การแก้ไข Pain Points และสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศให้ SMEs ไทย
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK : EXIM Thailand Pavilion เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ EXIM BANK ริเริ่มและพัฒนาขึ้น เพื่อสร้างทางรอดให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs มีช่องทางขายสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก Alibaba.com และสามารถเข้าถึงผู้ซื้อ (Active Buyers) จำนวนกว่า 26 ล้านราย เน้นการขายส่งระหว่างผู้ผลิตกับธุรกิจต่าง ๆ เฉลี่ยต่อวันมากกว่า 400,000 รายการ

ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับโอกาสเข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของ E-Commerce โลก สอดรับกับเมกะเทรนด์ของโลก Next Normal ในระยะถัดไป

EXIM BANK จะทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อเตรียมความพร้อมให้ SMEs ไทย สามารถเริ่มต้นส่งออกครั้งแรกบน “EXIM Thailand Pavilion” และขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ช่วยสร้างรายได้ และชื่อเสียงให้แก่สินค้าไทยในเวทีการค้าโลก

ฝากถึงผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ไทย ทำอย่างไรจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK : จากจำนวนผู้ส่งออก SMEs ไทยที่มีไม่ถึง 1% ของทั้งระบบ ขณะที่ผู้ส่งออกไทยที่ค้าขายออนไลน์ระหว่างประเทศ ก็มีจำนวนน้อยมาก เทียบกับประเทศอื่นใน อาเซียน อาทิ เวียดนาม มีจำนวนผู้ส่งออก SMEs สูงถึง 10% ของ SMEs ทั้งประเทศเวียดนาม นับเป็นสัดส่วนสูงกว่าไทยถึง 10 เท่า อีกทั้ง 30% ของ SMEs เวียดนามยังค้าขายออนไลน์ระหว่างประเทศแล้ว

จึงเห็นได้ว่า การค้าออนไลน์ มีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ ให้ยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 ประกอบกับการเกิดปรากฏการณ์อภิมหาการลาออก (Great Resignation) และคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะประชากร Gen Z วัย 15-21 ปีในปัจจุบัน ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ทำให้การค้าออนไลน์ของโลกในปี 2563 ขยายตัวอย่างรวดเร็วถึง 24% ขณะที่การค้าโลกหดตัว 9% ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยทางออนไลน์ต่อยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยรวมเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 12% ในปี 2562 เป็น 23% ในปี 2563 และคาดว่าจะสูงถึง 30% ในปี 2568 จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จะเร่งรุกตลาดส่งออกออนไลน์ ซึ่งตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค และการใช้ชีวิตในรูปแบบวิถีใหม่ เพื่อกระจายตลาด สร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ และลดการพึ่งพาตลาดในประเทศที่ขยายตัวได้ยาก

EXIM BANK ทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อเตรียมความพร้อมให้ SMEs ไทยเริ่มต้นส่งออกครั้งแรกบน EXIM Thailand Pavilion และขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ช่วยสร้างรายได้และชื่อเสียงให้แก่สินค้าไทยในเวทีการค้าโลก” – ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร

ขอบคุณแหล่งที่มา : businesstoday.co

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : marinapaper.com